การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม

บริษัทให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย เช่น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนและสังคม ในเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา เพื่อให้ชุมชนและสังคม เติบโตไปพร้อมๆกับการพัฒนาเมือง บริษัทจึงได้กำหนดเป็น “นโยบายการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนและสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ” เพื่อให้บริษัทบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

นโยบายการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนและสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

(1)    โครงการพัฒนาชุมชน 
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว บริษัทจึงได้เริ่มดำเนินการ “โครงการซิโน-ไทย คืนกำไรสู่สังคม”  ตั้งแต่ปี 2545 โดยการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารห้องสมุด อาคารอเนกประสงค์ มอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษาให้แก่โรงเรียนและสถาบันการศึกษา โดยมีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในถิ่นทุรกันดาร ได้มีโอกาสรับการศึกษา รวมถึงโรงเรียนที่ยังคงขาดแคลนงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร โดยในระยะแรกเริ่มโครงการบริษัทได้คัดเลือกโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้หน่วยงานก่อสร้างของบริษัท ต่อมาบริษัทได้ขยายขอบเขตของโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยมีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกโรงเรียนที่ขาดแคลนอย่างชัดเจน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในสังคมหรือชุมชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง
นอกจากการมอบอาคารเรียน อาคารห้องสมุด อาคารอเนกประสงค์ มอบทุนการศึกษา และอุปกรณ์การศึกษาให้แก่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาแล้วนั้น บริษัทยังได้ริเริ่มโครงการ “ซิโน-ไทย คืนความสดใสสู่อาคารชาญวีรกูล”  เป็นโครงการทำนุบำรุงอาคารที่ได้ก่อสร้างและส่งมอบให้แก่โรงเรียนต่างๆไปแล้ว ซึ่งจะเน้นไปในด้านการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด รวมถึงการทาสีอาคาร เพื่อให้อาคารดังกล่าวกลับมาสดใส  มีคุณค่า  สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และยังคงไว้ซึ่งชื่อของ  “อาคารชาญวีรกูล” ในโครงการ “ซิโน-ไทย คืนความสดใสสู่อาคารชาญวีรกูล”  
    บริษัทได้ทำการก่อสร้างและส่งมอบอาคารเรียน อาคารห้องสมุด และอาคารอเนกประสงค์ ไปแล้ว 71โรงเรียนทั่วประเทศ โดยที่บริษัทยังคงมีนโยบายในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนผ่านโครงการทั้ง 2 โครงการอย่างต่อเนื่องทุกปี


(2)    โครงการช่วยเหลือสังคม 
บริษัทได้สนับสนุนการช่วยเหลือสังคมในหลากหลายรูปแบบทั้งเป็นการบริจาคเงิน การสนับสนุนทีมงานพร้อมอุปกรณ์ ยานพาหนะ และเครื่องจักร เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยและสนับสนุนการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ อาทิเช่น
•    การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น
•    การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุ เช่น ตึกถล่ม เป็นต้น
•    การสนับสนุนกิจการด้านศาสนาและพัฒนาชุมชน 
ทั้งนี้ในการบริจาคเงินหรือการให้ความช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ บริษัทมีนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติและการพิจารณาอนุมัติที่ชัดเจน 

(3)    โครงการและกิจกรรมพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือสังคม ที่ได้ดำเนินการไปในปี 2566
ในปี 2566 บริษัทได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือสังคม ดังนี้
1.    บริษัทได้มีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนและสังคม รวมถึงบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนในพื้นที่บริเวณหน่วยงานก่อสร้างของบริษัท เช่น ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำ ก่อนฤดูฝน ในแนวสายทางการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เพื่อลดการท่วมขังของปริมาณน้ำในชุมชนที่มีน้ำท่วมขัง เป็นต้น 


การลอกท่อน้ำทิ้งในช่วงฤดูฝน เพื่อลดการท่วมขังของปริมาณน้ำในชุมชนที่มีน้ำท่วมขัง

2.    บริษัทได้จัดสร้าง “อาคารชาญวีรกูลที่ 71” ซึ่งเป็นอาคารเรียนสำหรับเด็กชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ขนาด 2 ห้องเรียน 1 โซนห้องน้ำ ให้แก่ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านพญาโกหา  อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ภายใต้โครงการ “ซิโน-ไทย คืนกำไรสู่สังคม” โดยสามารถเพิ่มโอกาสให้เด็กในชุมชนชาวไทยภูเขาและชุมชนใกล้เคียงได้รับการศึกษา จำนวนกว่า 100 คน บริษัทยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการ “ซิโน-ไทย คืนกำไรสู่สังคม" อย่างต่อเนื่อง 

จัดสร้าง “อาคารชาญวีรกูลที่ 71” จ.เชียงราย

3.    โครงการอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้นให้แก่พลทหารเตรียมปลดประจำการ กองพันระวังป้องกัน กองทัพบก รุ่นที่ 2 จำนวน 59 คน โดยการร่วมลงนาม MOU กับ สำนักกองบัญชาการ กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อให้ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อพลทหารเตรียมปลดประจำการ โดยศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งได้มีการฝึกอบรมภาคทฤษฎี ให้ความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นในการก่อสร้างและภาคปฏิบัติตามความถนัด รวมทั้งหมด 7 หลักสูตร ได้แก่ งานปูกระเบื้องพื้นและผนัง งานเชื่อมโลหะ งานประกอบท่อ งานขับเครื่องจักร งานซ่อมเครื่องจักร งานสำรวจ และงานไฟฟ้า ณ กองพันระวังป้องกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ทั้งนี้ บริษัทได้ทดสอบระดับความรู้ก่อนและหลังการฝึกอบรม พบว่า ก่อนการอบรมมีคะแนนการทดสอบระดับความรู้เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 24.07 และหลังการอบรมมีคะแนนการทดสอบระดับความรู้เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 83.73 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้เพิ่มขึ้น หลังการฝึกอบรม ร้อยละ 59.66  มีจำนวนคนที่ผ่านเกณฑ์และมีความรู้เพิ่มขึ้นทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 และมีการวัดระดับความถึงพอใจในการฝึกอบรมอยู่ที่ร้อยละ 91 ซึ่งบริษัทจะนำข้อมูลต่างๆไปพัฒนาและปรับปรุงการจัดการฝึกอบรมต่อไป
นอกจากนั้นแล้ว บริษัทมีกระบวนการติดตามผลการดำเนินโครงการ หลังจากจบการอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้นฯ สำหรับพลทหารกองประจำการ เตรียมปลดประจำการ จำนวน 59 นาย ในการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดทางอาชีพ หรือสมัครเข้าร่วมงานกับองค์กรต่างๆ ซึ่งผลจากการสอบถามได้ข้อมูล ดังนี้ 

 

การติดตามผลการดำเนินโครงการ

จำนวน (พลทหาร)

อัตราร้อยละ (%)

1.

หลังการอบรมผู้เข้าอบรมจะเก็บไว้เป็นความรู้

36

61.02

2.

นำไปประกอบอาชีพของตนเอง

11

18.64

3.

หาสมัครงานในสาขาที่ได้รับการอบรม

10

16.95

4.

ศึกษาต่อในสาขาที่ได้รับการอบรม

1

1.69

5.

สมัครงานที่บริษัท ซิโน-ไทยฯ 

1

1.69

 

รวมทั้งสิ้น

59

100

โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนคืนสู่สังคม มอบความรู้อันเป็นประโยชน์ในด้านอาชีพ รวมถึงสร้างโอกาสในการทำงาน และนำไปต่อยอดเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป 

โครงการอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น พลทหารเตรียมปลดประจำการ รุ่นที่ 2 ปี 2566

รายงานผลและการติดตามผลการดำเนินงาน โครงการอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น พลทหารเตรียมปลดประจำการ รุ่นที่ 2 ปี2566

กิจกรรมอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้นให้แก่พลทหารเตรียมปลดประจำการ กองพันระวังป้องกัน กองทัพบก

 

4.    บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา และการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม มุ่งหวังสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพของนักศึกษา จึงได้ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดโครงการ “Construction Innovation Challenge” ครั้งที่ 1 เพื่อเสริมสร้างการสร้างนวัตกรรม โดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมแข่งขันการประกวดการสร้างนวัตกรรมโดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรม ความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมในกระบวนการวิศวกรรมและก่อสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดผลกระทบต่อสังคม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมโครงการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 14 คน และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น 34 คน ซึ่งจากการติดตามผลโครงการดังกล่าว จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้ง 2 สถาบัน นิสิต นักศึกษา ได้นำนวัตกรรมจากโครงการดังกล่าวไปต่อยอดในการพัฒนา อันนำมาซึ่งประโยชน์ต่อการเรียน การสอนในสาขาวิศวกรรมต่อไป ทางบริษัท จะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังการพัฒนาความคิดด้านนวัตกรรมของนิสิต นักศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้ยั่งยืน

โครงการ “Construction Innovation Challenge”

5.    โครงการ “กระดาษเก่าแลกกระดาษใหม่” ลดการใช้กระดาษ รวมถึงการใช้กระดาษอย่างคุ้มค่า และทำการหมุนเวียนกระดาษตามกระบวนการ Recycle กระดาษที่ใช้แล้ว ให้กลับมาใช้งานได้ ในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์กระดาษ โดยบริษัทนำเฟอร์นิเจอร์กระดาษที่ได้ ไปบริจาคในโครงการ CSR ต่างๆ เพื่อให้ชุมชนและสังคมได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า รวมถึงเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบกับส่งผลให้บริษัทรับประโยชน์ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต
โดยจำนวนกระดาษที่รวบรวมในปี 2566 ดังนี้
- กระดาษขาว-ดำ 2,980 กิโลกรัม    
- กระดาษน้ำตาล 3,360 กิโลกรัม 
- กระดาษสีรวม 9,390 กิโลกรัม
         รวมทั้งหมด 15,730 กิโลกรัม
ปัจจุบันได้ดำเนินการแลกเป็นเฟอร์นิเจอร์กระดาษ เพื่อมอบเข้าโครงการ CSR ดังนี้
- กล่องรวบรวมกระดาษ (สำหรับหน่วยงาน) จำนวน 30 ชุด
- ชุดโต๊ะ เก้าอี้กระดาษ ขนาดใหญ่ จำนวน 1 ชุด 
- ชุดโต๊ะ เก้าอี้กระดาษ ขนาดเล็ก จำนวน 2 ชุด 
- ชั้นวางหนังสือ จำนวน 2 ชุด 


โครงการกระดาษเก่าแลกกระดาษใหม่

6.    กิจกรรม "มอบความสุขให้ดวงตา" โดยบริษัท เปิดรับบริจาคปฏิทินตั้งโต๊ะที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อรวบรวมให้ทางมูลนิธิช่วยคนตาบอด แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำไปผลิตเป็นสื่อการเรียน การสอนอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา ผ่านสื่อกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมในการช่วยเหลือสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

กิจกรรม “มอบความสุขให้ดวงตา”

7.    กิจกรรม “เสริมสร้างความรู้เรื่องความปลอดภัยและการปฐมพยาบาล” โดยโครงการโรงไฟฟ้าปลวกแดง ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ทักษะเรื่องความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโรคลมแดดและไข้หวัดใหญ่ แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนมาบยางพรและโรงเรียนบ้านปลวกแดง จำนวน 400 คน เพื่อการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนและสังคม ให้เด็กนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ในชุมชน เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง

                                                                                                       “เสริมสร้างความรู้เรื่องความปลอดภัยและการปฐมพยาบาล”